ความผิดปกติทางคลินิก

ความผิดปกติทางร่างกายที่ได้มีการศึกษาแล้วในเชิงสาเหตุ การดำเนินไป และวิธีการรักษา ทางการแพทย์จะเรียกโดยรวมว่า "ความผิดปกติทางคลินิก" ความผิดปกตินี้สามารถจำแนกออกได้ในหลายลักษณะ เช่น

  • จำแนกตามการเกิดได้เป็น ความผิดปกติแต่กำเนิด และความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง
  • จำแนกตามระบบ เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบเลือด ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
  • จำแนกตามลักษณะของพยาธิสภาพได้เป็น ความผิดปกติทางโครงสร้างหรือทางกาย เช่น อักเสบ ตีบตัน เนื้องอก และความผิดปกติที่การทำงาน ซึ่งเมื่อตรวจร่างกาย เอกซเรย์ ตรวจชิ้นเนื้อ ทุกอย่างจะให้ผลปกติ บางคนจัดความผิดปกติกลุ่มนี้ว่าเกิดจากจิตใจ
  • จำแนกตามผู้ตรวจพบได้เป็น อาการ อาการแสดง และผลตรวจ

นิยามศัพท์

อาการ (symptom) หมายถึง ความผิดปกติที่ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดรู้สึกหรือตรวจพบ อาจเป็นความรู้สึกปวด คัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แสบอก ฯลฯ ที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คนเดียว หรือเป็นอาการไอ อาเจียน บวม ตาแดง ตาเหลือง เดินเซ ฯลฯ ที่คนอื่น ๆ ก็สามารถมองเห็นได้ หรืออาจเป็นอาการที่ตัวผู้ป่วยเองไม่รู้สึกผิดปกติ แต่ผู้ใกล้ชิดรู้สึก เช่น นอนกรน สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน เป็นต้น

อาการแสดง (sign) หมายถึง ความผิดปกติที่แพทย์หรือบุคลากรทางคลินิกตรวจพบ เช่น มีไข้ (ที่วัดอุณหภูมิร่างกายได้สูงกว่า 37.8ºC หรือ 100ºF) ความดันโลหิตสูง ตับม้ามโต เสียงกรอบแกร็บในปอด หรือเป็นลักษณะการตอบสนองของร่างกายที่บ่งชี้ถึงพยาธิสภาพเมื่อใช้วิธีตรวจแบบเฉพาะต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์หรือประเมินอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวาแล้วแพทย์ตรวจพบ Murphy's sign ซึ่งแสดงถึงพยาธิสภาพที่ถุงน้ำดี หรือผู้ป่วยที่ถูกส่งมาด้วยอาการหมดสติแล้วแพทย์ประเมินการตอบสนองของรีเฟล็กซ์ต่าง ๆ เพื่อดูว่าหมดสติลึกขนาดไหน เป็นต้น

ผลตรวจ (test) หมายถึง ความผิดไปจากค่าปกติขององค์ประกอบภายในร่างกายที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการตรวจพบ เช่น ผลตรวจเลือด ปัสสาวะ น้ำไขข้อ ผลเพาะเชื้อจากเสมหะ อุจจาระ ผลตรวจทางรังสีวิทยา ผลตรวจทางพยาธิวิทยา ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลการส่องกล้อง เป็นต้น การตรวจเหล่านี้แม้จะกระทำโดยเครื่องหรือผู้ที่มิได้ใกล้ชิดผู้ป่วยโดยตรง (มิได้ตรวจลำเอียงไปตามอาการบอกเล่า) แต่การแปลผลความผิดปกติที่ออกมาจำเป็นต้องอิงกับอาการและอาการแสดงของระบบนั้น ๆ ด้วยเสมอ เนื่องจากค่าปกติที่ตั้งไว้มาจากค่าเฉลี่ยของคนปกติเท่านั้น เหมือนส่วนสูงและน้ำหนักปกติของคนปกติในช่วงอายุต่าง ๆ ผู้ที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคทุกคนฉันใด ผลตรวจขององค์ประกอบภายในร่างกายที่ผิดไปจากค่าปกติโดยที่คนไข้ไม่มีอาการของระบบนั้นเลยก็อาจไม่ใช่ความผิดปกติจริงฉันนั้น นอกจากนั้นการตรวจทุกชนิดยังมีขั้นตอนที่ต้องระมัดระวังมากมาย (ตั้งแต่การเตรียมตัว วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจ การขนส่ง การตั้งศูนย์ การวัดค่า และการตรวจสอบผล) การตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ก็อาจส่งผลให้ค่าที่ออกมามีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้

ทั้งอาการ อาการแสดง และผลตรวจ อาจมีการเรียกทับซ้อนกันทางคลินิก เนื่องจากอาการแสดงบางอย่าง เช่น ความดันโลหิต การเต้นของชีพจร อุณหภูมิของร่างกาย หรือแม้แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยก็สามารถตรวจได้เอง (ด้วยอุปกรณ์พกพาที่ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน) และผู้ป่วยก็อาจถือรายงานผลตรวจที่ผิดปกติไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง ซึ่งก็จะกลายเป็นอาการที่มาพบแพทย์ท่านนั้นไป โดยรวมแล้วจึงอาจเรียกทั้งหมดนี้ว่าเป็นความผิดปกติทางคลินิก

ความผิดปกติทางคลินิกที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู่การเป็นโรคทุกครั้งไป มีบ่อยครั้งที่ความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็หายไปเองโดยไม่มีพยาธิสภาพอะไร นั่นเป็นเพราะธรรมชาติได้สร้างร่างกายของเราให้มีระบบป้องกันและรักษาตัวเองอย่างดีเลิศอยู่แล้ว และตัวควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมดก็คือจิตใจของเราเอง

ความผิดปกติทางคลินิกที่ได้ก่อตัวขึ้นจนเป็นโรคแล้วก็อาจไม่ได้เกิดเป็นโรคตามระบบที่แสดงอาการนั้น เช่น อาการของระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้อาเจียน) ก็อาจพบว่าเป็นโรคของระบบประสาท (เนื้องอกที่สมอง) เป็นต้น ดังนั้นในหมวดนี้จึงไม่ได้จำแนกอาการตามระบบ แต่ใช้วิธีเรียงตามลำดับตัวอักษรแทน