โรคแอนแทร็กซ์ (Anthrax)
แอนแทร็กซ์เป็นโรคระบาดในสัตว์ โดยเฉพาะพวกวัว ควาย ม้า แกะ และแพะ เกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียรูปแท่ง กรัมบวก สร้างสปอร์ได้เมื่ออยู่ภายนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต คนติดโรคแอนแทร็กซ์มาจากสัตว์ได้ 3 ทางคือ ทางการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง ทางการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อ Bacillus anthracis ที่ติดอยู่ในขนสัตว์หรือหนังสัตว์เข้าไป และทางการกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทร็กซ์ตาย การติดโรคทั้ง 3 ทางทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกัน
อาการของโรค
ระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 7 วัน อาการแบ่งตามระบบที่ติดเชื้อได้ดังนี้
- แอนแทร็กซ์ที่ผิวหนัง (Cutaneous anthrax) ผู้ป่วยมักมีประวัติว่าไปแล่เนื้อวัวเนื้อควายที่เสียชีวิตเอง จากนั้น 2-5 วันจึงเกิดตุ่มแดงขึ้น ตรงบริเวณที่สัมผัส เช่นที่มือ ปลายนิ้ว ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใสใน 1-2 วัน แล้วจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในราววันที่ 5 ของโรคจะเกิดเนื้อตายสีดำที่ตรงกลางตุ่มหนอง ลักษณะเหมือนแผลไหม้ที่ถูกบุหรี่จี้ แผลมีขอบนูนชัดเจน ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย จากนั้นเชื้อจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง และเข้าสู่กระแสเลือดในที่สุด
- แอนแทร็กซ์ที่ระบบหายใจ (Inhalation anthrax หรือ woolsorter's disease) ผู้ป่วยมักเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้หนังสัตว์หรือขนสัตว์เป็นวัตถุดิบ อาการจะรุนแรงมาก โดยจะมีไข้สูง กระสับกระส่าย หายใจขัด เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ลิ้นบวม ไอเป็นเลือด หอบ ตัวเขียว ความดันโลหิตตก ภาพรังสีทรวงอกมักพบน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และเมดิแอสตินั่ม (mediastinum) กว้างขึ้น
- แอนแทร็กซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (Intestinal anthrax) เชื้อแอนแทร็กซ์ที่อยู่ในรูปของสปอร์สามารถทนความร้อนได้สูงมาก การอบด้วยความร้อน 140°C สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 1-3 ชั่วโมง ถ้าเอาไปต้มจะทนความร้อน 100°C ได้นาน 5-30 นาที ผู้ป่วยมักมีประวัติกินแกงเนื้อ หรือยำเนื้อสุก ๆ ดิบ ๆ แล้วมาด้วยอาการปวดท้องเฉียบพลัน มีอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงคล้ายโรคอหิวาต์ อุจจาระอาจมีเลือดสด ๆ ปนออกมาเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อาเจียน อาการจะหนักมาก บางครั้งช็อคและเสียชีวิต
ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบร่วมกับแอนแทร็กซ์ทั้ง 3 ชนิดคือภาวะโลหิตเป็นพิษ (septicemia) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะเลือดเป็นพิษมักพบในรายที่รักษาช้า เชื้อแทรกซึมเข้ากระแสเลือดไปก่อน ส่วนเยื่อหุ้มสมองอักเสบพบไม่บ่อยแต่อาการรุนแรง ผู้ป่วยจะสับสน เอะอะ แล้วซึมลง ตรวจน้ำไขสันหลังจะพบน้ำขุ่นเหมือนหนองหรือเป็นสีแดงปนเลือด
การวินิจฉัย
โรคแอนแทร็กซ์วินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อขึ้นจากแผล เสมหะ อุจจาระ เลือด หรือน้ำไขสันหลัง ซึ่งมักจะช้า การตรวจทางซีโรโลยีก็ต้องมีไตเตอร์เพิ่มขึ้น 4 เท่าจึงจะวินิจฉัยได้ ถ้าประวัติของผู้ป่วยและอาการแสดงคล้ายกับโรคแอนแทร็กซ์ต้องให้ยาปฏิชีวนะไปก่อน
อาการไข้และมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ต้องแยกจากไข้รากสาดใหญ่หรือไข้ทัยฟัส อาการไข้และอุจจาระร่วงรุนแรงต้องแยกจากโรคบิดไม่มีตัว อหิวาตกโรค และภาวะอาหารเป็นพิษทั้งหลาย อาการไข้และหายใจหอบต้องแยกจากโรคปอดอักเสบจากเชื้อต่าง ๆ
การรักษา
ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคแอนแทร็กซ์ได้แก่ Ciprofloxacin, Doxycycline, Penicillin, Chloramphenicol และ Erythromycin ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงต้องให้น้ำเกลือชดเชยให้เพียงพอ รายที่ความดันตกจากโลหิตเป็นพิษต้องให้ยาพยุงความดันให้นานที่สุด
วิธีป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทร็กซ์ให้ปศุสัตว์ทุกตัว
- หากมีสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาชันสูตร
- ไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุมาจำหน่ายหรือประกอบอาหารรับประทานเอง
วัคซีนป้องกันโรคแอนแทร็กซ์ที่ใช้ในคนมีราคาแพง แนะนำให้ฉีดเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ป่วยโดยตรง คนทั่วไปที่บังเอิญไปสัมผัสกับโรค เช่น ดูแลคนที่ป่วยเป็นโรคแอนแทร็กซ์ เจ้าของสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์ หรือกินเนื้อสัตว์ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคแอนแทร็กซ์ตายเข้าไป ควรทานยาป้องกันนาน 7 วัน และเฝ้าสังเกตอาการจนครบ 10 วัน