โรคเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)

เยื่อบุตาที่อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียพบได้น้อยกว่าจากเชื้อไวรัส แต่อาการรุนแรงกว่า และอาจกลายเป็นโรคเรื้อรังได้ เชื้อที่พบบ่อยในผู้ใหญ่คือ Staphylococcus aureus และกลุ่มของ Gonococci ส่วนเชื้อที่พบบ่อยในเด็กคือ Streptococcus pneumoniae และ Haemophilus influenzae

การติดต่อก็เช่นเดียวกับโรคเยื่อบุตาที่อักเสบจากไวรัส คือติดทางการสัมผัส เชื้อจะอยู่ในน้ำตาและขี้ตา หากผู้ป่วยเอามือไปขยี้ตาแล้วไม่ได้ล้างมือทันที เชื้อจะเปรอะเปื้อนไปตามเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ ผู้ที่เล่นด้วยกันหรือใช้ชีวิตด้วยกันอย่างใกล้ชิดก็จะสัมผัสกับเชื้อที่อยู่ตามสิ่งของและเสื้อผ้าเหล่านั้น เมื่อเอามือมาขยี้ตาตัวเองก่อนที่จะล้างมือก็อาจจะติดโรคนี้ได้โดยง่าย

นอกจากนั้นเชื้อ Neisseria gonorrhoeae (หรือเชื้อหนองใน) ซึ่งประจำอยู่ในช่องคลอดของมารดายังอาจติดสู่ตาของทารกขณะที่คลอดผ่านทางช่องคลอดได้ ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงต้องทำการหยอดยาฆ่าเชื้อทันทีที่ตาของทารกทุกรายที่คลอดตามธรรมชาติ

อาการของโรค

อาการมีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

  1. อาการแบบเฉียบพลัน (Acute bacterial conjunctivitis)
  2. ความรุนแรงและระยะฟักตัวขึ้นกับชนิดของเชื้อและภูมิต้านทานของตัวผู้ป่วยเอง โดยมักเริ่มเป็นทีละข้าง ตาข้างที่เป็นจะแดง เคืองตามาก หนังตาบวม และมีขี้ตามาก ลักษณะข้น ๆ สีเหลืองแบบหนอง ตื่นนอนตอนเช้ามักมีขี้ตามากจนทำให้เปลือกตาติดกัน

    เชื้อหนองในที่ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันในทารกมักเกิดภายใน 2-7 วันหลังคลอด มักเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง ถือเป็นภาวะรุนแรง เพราะมักลามไปที่กระจกตาอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้กระจกตาฉีกขาด หรือลุกลามกลายเป็นการติดเชื้อทั้งลูกตาได้

  3. อาการแบบเรื้อรัง (Chronic bacterial conjunctivitis)
  4. เชื้อมักเป็นพวก staphylococcus ผู้ป่วยมักจะมีหนังตาอักเสบหรือมีตากุ้งยิงเป็น ๆ หาย ๆ ต่อมาจึงเกิดอาการเคืองตา ร้อนในตา รู้สึกเหมือนมีขี้ผงอยู่ในตาตลอดเวลา มีสะเก็ดแห้ง ๆ สีเหลืองของขี้ตาเกาะตาในตอนเช้า ขนตาร่วง อาการจะเป็นอยู่นานกว่า 4 สัปดาห์

    เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรังยังอาจเป็นจากโรคริดสีดวงตา (Trachoma) ซึ่งเกิดจากเชื้อคลาไมเดีย และโรคต่อมไขมันที่หนังตาอักเสบ (Meibomitis) ด้วย

การวินิจฉัย

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรียต้องแยกจากโรคที่มีอาการเคืองตาเหมือนกัน เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งมักเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง มีตาแดง และคันตาร่วมด้วย, โรคเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส ซึ่งมักมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต และขี้ตาไม่ค่อยมาก, โรคม่านตาอักเสบ (Iritis) ซึ่งจะมีม่านตาหดเล็กและสู้แสงไม่ได้, หากมีอาการปวดตามากและตามัวต้องนึกถึงภาวะที่กระจกตา (เช่น มีแผลหรือรอยถลอกที่กระจกตา, กระจกตาอักเสบ) และโรคต้อหิน

การวินิจฉัยหาเชื้อที่เป็นสาเหตุอาศัยการย้อมและเพาะเชื้อจากขี้ตา รายที่เป็นเรื้อรังควรย้อม Giemsa เพื่อดู intracellular inclusion bodies ของเชื้อคลาไมเดียด้วย รายที่เป็นรุนแรงมาก (มีหนองคลั่ก ปวดตามาก มีไข้) อาจจำต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูภายในกระบอกตาว่ามีการติดเชื้อลุกลามเข้าไปหรือยัง

การรักษา

ยารักษาหลักของโรคเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรียคือยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือป้ายตา ซึ่งอาจเป็น Gentamicin, Tobramycin, Neomycin, หรือ Trimethoprim + Polymixin B ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือฉีดจะใช้ในกรณีที่เป็นเชื้อหนองใน หรือเป็นโรคริดสีดวงตาเท่านั้น

การป้องกัน

การล้างมือบ่อย ๆ และไม่เอามือไปขยี้ตาเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด ผู้ที่กำลังเป็นโรคไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ และควรแยกของใช้ส่วนตัวที่ต้องสัมผัสกับบริเวณหน้า ผู้ที่ใช้ contact lens ควรดูแลทำความสะอาด lens ให้ดี