โรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial endocarditis, Infective endocarditis)

โรคนี้เป็นการอักเสบของเยื่อบุหัวใจด้านในจากการติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคคือ

  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจอยู่ก่อน ทั้งที่เป็นแต่กำเนิดและที่เกิดขึ้นมาภายหลัง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ลิ้นหัวใจเทียม
  • ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากแบคทีเรียมาก่อน

เชื้อที่พบได้แก่เชื้อที่อยู่ตามผิวหนังและในช่องปาก การถอนฟันหรือผ่าตัดใด ๆ ในช่องปากในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนจึงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัดหรือถอนฟัน

อาการของโรค

ผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากแบคทีเรียส่วนใหญ่จะแสดงอาการแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute) คือใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเดือนถึงจะรู้สึกตัวว่าป่วย อาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้แก่ ไข้ต่ำ ๆ เป็นพัก ๆ ปวดเนื้อตัว เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะเริ่มเป็นถี่ขึ้น หนาวสั่นเวลามีไข้ ปวดตามข้อ ซีดลง น้ำหนักลด ปวดท้องเนื่องจากม้ามโต

เนื่องจากการอักเสบติดเชื้อเกิดที่เยื่อบุผนังด้านในของหัวใจ เมื่อหัวใจสูบฉีดเลือดออกไปก็อาจพาเอาเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไปพร้อมกับตัวเชื้อ (infective emboli) และไปติดอยู่ตามหลอดเลือดฝอยของอวัยวะต่าง ๆ อาการลำดับต่อไปของผู้ป่วยก็คืออาการของหลอดเลือดฝอยอุดตัน เช่น ถ้าเป็นการติดเชื้อทาง หลอดเลือดดำ (จากเข็มฉีดยาเสพติด) เชื้อจะเข้าสู่ผนังหัวใจด้านขวาก่อน แล้วถูกฉีดต่อไปยังปอด เมื่อหลอดเลือดฝอยที่ปอดอุดตันก็จะมีอาการเจ็บอก หายใจหอบ ตัวเขียว ถ้าเป็นการติดเชื้อของผนังหัวใจด้านซ้าย เลือดจะถูกฉีดไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีจุดแดงตามปลายมือปลายเท้า มีเลือดออกใต้เยื่อบุตา เลือดออกที่จอตา ปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ้าโชคร้ายไปอุดหลอดเลือดฝอยที่สมองก็จะทำให้เกิดอาการชัก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หรือชาครึ่งซีก

เมื่อหัวใจอักเสบมากเข้าจนทำงานต่อไปไม่ไหวก็จะแสดงอาการของหัวใจล้มเหลว คือเหนื่อยมากจนทำงานตามปกติไม่ได้ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ไอเวลานอนราบ บางครั้งเสมหะเป็นฟองสีแดง ขาบวม ตับโต ตาเหลือง เจ็บแน่น ๆ ใต้ชายโครงขวา แพทย์ตรวจร่างกายก็จะพบมีหัวใจโต และอาจได้ยินเสียงฟู่ที่ลิ้นหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ หลอดเลือดฝอยอุดตันที่สมอง ปอด ไต และลำไส้, ฝีในสมอง, ภาวะไตอักเสบ (glomerulonephritis), และภาวะลิ้นหัวใจถูกทำลาย

การวินิจฉัยโรค

เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคคือจะต้องมี
ข้อบ่งชี้หลัก 2 ข้อ หรือ
ข้อบ่งชี้หลัก 1 ข้อ บวกกับ ข้อบ่งชี้รองอีก 3 ข้อ หรือ มีข้อบ่งชี้รองตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป

ข้องบ่งชี้หลัก ได้แก่

  1. การเพาะเชื้อจากเลือดที่เจาะในเวลาต่างกันให้ผลบวกตั้งแต่ 2 ตัวอย่างขึ้นไป และเป็นเชื้อที่พบในโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบ
  2. การตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (echocardiography) แสดงว่ามีการอักเสบของเยื่อบุโพรงหัวใจ

ข้องบ่งชี้รอง ได้แก่

  1. มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือ เป็นผู้ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้นโลหิตดำ
  2. มีไข้สูงตั้งแต่ 38°C (100.4°F) ขึ้นไป
  3. มีปรากฏการณ์ของหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน เช่น คลำชีพจรข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ หลอดเลือดที่ปอดอุดตัน มีเลือดออกในสมอง หรือ ใต้เยื่อบุตา หรือ ใต้ผิวหนังที่บริเวณปลายมือปลายเท้า (Janeway lesions)
  4. มีปรากฏการณ์ทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่ามีการอักเสบของหลอดเลือดส่วนปลาย เช่น ไตอักเสบ (glomerulonephritis), Osler nodes, Roth spots
  5. การเพาะเชื้อจากเลือดให้ผลบวก 1 ตัวอย่าง หรือ การตรวจทางซีโรโลยี่พบว่ามีการติดเชื้อระยะเฉียบพลัน และเป็นเชื้อที่พบในโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบ
  6. การตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (echocardiography) สงสัยว่าจะมีการอักเสบของเยื่อบุโพรงหัวใจ

การรักษา

การรักษาโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากแบคทีเรียต้องใช้ยาปฏิชีวนะขนาดสูงฉีดนาน 4-6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ไข้จะลงสนิทหลังฉีดไปได้ 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยต้องอดทนเจ็บเส้นเลือดที่ให้ยาต่อ เพราะหากหยุดยาระหว่างนี้อาจทำให้เชื้อโรคที่ยังไม่ตายหมดกลับเจริญขึ้นมาอีก และมักจะดื้อยา ไม่สามารถหายาที่เหมาะสมมารักษาได้ต่อไป มีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดช่วยในระยะเฉียบพลันด้วย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีการโป่งพองของหลอดเลือดจนเสี่ยงต่อการแตก หรือเกิดมีฝีที่หดรัดรอบลิ้นหัวใจ หรือมีการกระจายของเชื้อในรูปของก้อนเนื้อเยื่อไปยังอวัยวะอื่นเพิ่มขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้

หลังการรักษา อาการหอบเหนื่อย ขาบวม ตาเหลือง จะดีขึ้นบ้าง แต่ร่างกายจะไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน เพราะผนังหัวใจที่โตและลิ้นหัวใจที่ถูกทำลายไปแล้วไม่อาจสมานให้ดีดังเดิม ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องจำกัดน้ำดื่มในแต่ละวัน หรือ ต้องใช้ยารักษาภาวะหัวใจวายเรื้อรังต่อไป ในรายที่ลิ้นหัวใจถูกทำลายไปมากควรเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในภายหลัง

การป้องกัน

ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจและผนังหัวใจอยู่ก่อน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมแล้ว จำเป็นต้องได้รับยาฏิชีวนะป้องกันโรคเยื่อบุโพรงหัวใจอักเสบจากแบคทีเรียเมื่อจะเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องปาก ช่องท้อง การกรีดฝี และการทำหัตถการใด ๆ ที่อาจทำให้มีเลือดออก เช่น การส่องกล้องเข้าไปในหลอดลมหรือทางเดินอาหาร