โรคโบทูลิซึม (Botulism)
โรคนี้เกิดจากสารพิษโบทูลินั่ม (Botulinum toxin) ซึ่งสร้างจากแบคทีเรียกรัมบวกที่ชื่อ Clostridium botulinum แบคทีเรียชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในภาวะไร้ออกซิเจน ขณะที่เจริญเชื้อจะผลิตสารพิษโบทูลินั่มออกมาด้วย แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโต เชื้อจะอยู่ในรูปของสปอร์ที่ทนความร้อนและความแห้งได้ดี การทำลายสปอร์ต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 120°C นานกว่า 30 นาที แต่ตัวสารพิษเองไม่ทนความร้อน
คนติดโรคโบทูลิซึมได้ 4 ทางคือ
- จากการกินอาหารที่มีเชื้อชนิดนี้ปะปนอยู่ ซึ่งพบมากที่สุด
- จากบาดแผลที่สกปรก
- จากเชื้อ C. botulinum ในลำไส้สร้างสารพิษโบทูลิซึมขึ้นมาเอง พบเฉพาะในทารกแรกเกิด
- จากการสูดดมสารพิษโบทูลินั่มที่ใช้เป็นอาวุธชีวภาพ
อาการของโรค
สารพิษโบทูลินั่มเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีระยะเวลาฟักตัวไม่แน่นอน ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงไปจนถึง 14 วัน ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากการรับประทานอาหารจะเริ่มมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และถ่ายเหลว คล้ายกับภาวะอาหารเป็นพิษโดยทั่วไป หลังจากนั้นสารพิษยับยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นหลัก โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า เช่น หนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ปากคอแห้ง เจ็บคอ อาการอ่อนแรงดำเนินจากบนลงล่างจนถึงกระบังลม ลำไส้ แขน และขา ทำให้หายใจลำบาก (ซึ่งมักเกิดภายใน 1-3 วันหลังแรกหลังจากเริ่มมีอาการ) ท้องอืดจากลำไส้เคลื่อนไหวลดลง ท้องผูกและปัสสาวะเองไม่ได้ แต่ผู้ป่วยจะยังมีสติรู้ตัวดีและไม่มีอาการชา เพราะสารพิษนี้ไม่สามารถเข้าสู่สมองหรือไขสันหลังได้
ภาวะอ่อนแรงนี้จะคงอยู่นานเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยกลืนลำบาก สำลักง่าย จึงมีโอกาสเกิดปอดอักเสบแทรกซ้อนได้ง่าย นอกจากนั้นหากหายใจไม่ไหวก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรค
โรคโบทูลิซึมไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานที่ช่วยยืนยันการวินิจฉัย ต้องใช้ประวัติและอาการแสดงเท่านั้น โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกจะคล้ายโรคอาหารเป็นพิษอื่น ๆ ต่อเมื่อเกิดอาการอ่อนแรงแล้วจึงจะวินิจฉัยได้ แต่ก็มีโรคที่เกิดจากพิษของปลาปักเป้า (Tetrodotoxin) ที่มีอาการคล้ายกันและเกิดจากอาหารเช่นกัน มีข้อแตกต่างที่ใช้แยกระหว่าง 2 โรคนี้ไว้ดังนี้
- พิษของปลาปักเป้าจะเกิดเร็วกว่า ส่วนใหญ่เกิดภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังรับประทานพวกปลาปักเป้า แมงดา ไข่แมงดา หรือกบที่มีสารพิษชนิดนี้เข้าไป (ไม่ว่าจะปรุงสุกหรือไม่)
- ลักษณะอาการอ่อนแรงของโรคโบทูลิซึมจากเริ่มจากบนลงล่าง แต่พิษปลาปักเป้าจะเริ่มจากล่าง (ขา) ขึ้นบน (ใบหน้า)
- โรคโบทูลิซึมจะไม่พบอาการชา แต่พิษของปลาปักเป้ามักมีชารอบปากและปลายมือปลายเท้า
- อาการอ่อนแรงของพิษปลาปักเป้าจะเกิดเพียง 2-3 วัน แต่ของโรคโบทูลิซึมจะอยู่นาน 6-8 สัปดาห์
โรคที่ต้องวินิจฉัยแยกอื่น ๆ ได้แก่โรคที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น Guillain-Barré syndrome, Myasthenia gravis, Lambert-Eaton syndrome, โรคพิษสุนัขบ้า, บาดทะยัก, และพิษจากยาฆ่าแมลง ดังนั้นประวัติก่อนเกิดอาการจึงสำคัญมาก
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อเชื้อ C. botulinum หรือสารพิษโบทูลินั่มก็มี เช่น การเพาะเชื้อ การฉีดตัวอย่างอาหารที่สงสัยว่าจะมีสารพิษเข้าไปในหนู การตรวจสารพิษโดยวิธี Immunoassay และ PCR แต่การตรวจเหล่านี้ไม่ใช่การตรวจที่ทำได้ในห้องปฏิบัติการโดยทั่วไป เพราะต้องอาศัยเครื่องมือ สารเคมี และ
เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญ ผลการตรวจไม่เร็วพอที่จะช่วยแพทย์วินิจฉัยและรักษาดูแลผู้ป่วย แต่เอาไว้ใช้ยืนยันการวินิจฉัยโรคในตอนสุดท้าย สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจวิธีเหล่านี้ได้
การรักษา
การรักษาโรคโบทูลิซึมที่สำคัญคือการประคับประคองการหายใจและการขับถ่าย การให้ยาต้านพิษ และการป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ยาต้านพิษได้แก่ Botulinum antitoxin ฉีดเข้าเส้นช้า ๆ เพียงครั้งเดียว ยาต้านพิษนี้ก็มีโอกาสแพ้ได้ 10% ดังนั้นก่อนการให้ยาต้องเตรียมการรักษาภาวะแพ้แบบ anaphylaxis
ให้พร้อมก่อนเสมอ ประสิทธิภาพของยาขึ้นกับช่วงเวลาที่ให้ ถ้าผู้ป่วยได้รับในระยะกำลังมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะช่วยให้
การอ่อนแรงไม่ดำเนินต่อไปและหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับยาตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกของการเกิดอาการจะได้ผลดีที่สุด
หลัง 24 ชั่วโมงไปแล้วถึงแม้ว่าประสิทธิภาพจะลดลงแต่ก็ยังอาจมีประโยชน์
การป้องกัน
ความจริงโรคโบทูลิซึมป้องกันได้ไม่ยาก โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ เสมอ ไม่ควรกินอาหารกระป๋องที่กระป๋องบิดเบี้ยวแม้จะได้นำมาอุ่นใหม่แล้ว และหากมีบาดแผลเกิดขึ้นก็ควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนทันที