โรคฝีในสมอง (Brain abscess)
ฝีในสมองเป็นโรคร้ายแรงแต่พบได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการลุกลามของการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงกระดูกกกหูอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่ฟัน หรือมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อของลิ้นหัวใจ ฝีในปอด หรือไม่ก็เกิดหลังการบาดเจ็บที่ศีรษะ มีส่วนน้อยที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย การอุดตันของหลอดเลือดดำในสมอง และร้อยละ 15 ไม่ทราบแหล่งที่มาของการเกิดฝีในสมอง
เชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันเสื่อม ฝีในสมองก็อาจเป็นจากวัณโรค โปรโตซัว หนอนพยาธิ และเชื้อรา อัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีในสมองปัจจุบันลดลงมากหลังจากที่มียาปฏิชีวนะที่แทรกซึมเข้าในเนื้อสมองได้ดี ประกอบกับเทคนิคการเอ็กซเรย์ที่สามารถระบุตำแหน่งของฝีให้ศัลยแพทย์สมองเข้าไปผ่าตัดได้ง่ายขึ้น แต่อัตราทุพพลภาพจากการเป็นโรคฝีในสมองยังคงไม่ลดลง ผู้ป่วยร้อยละ 50 มีความพิการหลงเหลือหลังหายจากโรค
อาการของโรค
โรคฝีในสมองมักเกิดในเพศชาย ผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอาการหลัก 3 อย่างของโรคฝีในสมอง คือ ไข้ ปวดศีรษะ และสูญเสียการบังคับร่างกายบางส่วน (อัมพาตบางส่วน) อาการมักค่อย ๆ เกิดภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะอาเจียน ตาพร่ามัว สับสน ซึมลง บางรายมีอาการชักและหลังคอตึงแข็งคล้ายโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย ถ้าฝีเกิดที่สมองน้อยทางด้านหลังของศีรษะจะมีอาการเวียนศีรษะ เดินเซ เสียการทรงตัวร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อยคือการแตกของฝีในสมอง ซึ่งมักเกิดในรายที่โพรงฝีมีขนาดใหญ่แต่ผนังยังบางอยู่ ถ้าเกิดขึ้น มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 80
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคฝีในสมองอาศัยการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ลักษณะเฉพาะของฝีคือเป็นโพรงหนองที่เมื่อฉีดสารทึบแสงเข้าไปแล้วจะเห็นผนังหนาหุ้มรอบโพรง ส่วนการวินิจฉัยเชื้อที่เป็นสาเหตุอาจทำได้ยาก เพราะเนื้อฝีอยู่ภายในสมอง การเลือกชนิดของยาต้องอาศัยการตรวจเชื้อจากแหล่งตั้งต้นของการเกิดฝีในสมอง ถ้าไม่พบจริง ๆ ก็ต้องอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยาของเชื้อที่พบเป็นส่วนใหญ่ในกลุ่มประชากรที่มีลักษณะคล้ายกับตัวของผู้ป่วย
การรักษา
ฝีในสมองที่เป็นโพรงเดี่ยว มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 ซม. และอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดควรได้รับการผ่าตัด แล้วให้ยาปฏิชีวนะร่วมหลังผ่าตัด ส่วนฝีในสมองที่มีหลายโพรง ขนาดเล็ก หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดยาก มีอันตรายจากการผ่าตัดสูง ควรให้ยาปฏิชีวนะไปก่อน แล้วติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของฝีทุก 5-7 วัน หากไม่ดีขึ้นจึงค่อยพิจารณาผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างหนองมาตรวจหาเชื้อและความไวต่อยาโดยตรง
ฝีในสมองที่มีการบวมของเนื้อสมองค่อนข้างมากจนอาจเกิดภาวะสมองยื่น (brain herniation) และเสียชีวิตได้ ควรได้รับการเปิดกระโหลก และ/หรือ ให้ยาลดสมองบวมที่ไม่ใช่ Dexamethasone เพื่อไม่ให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด
โรคฝีในสมองต้องใช้ยาปฏิชีวนะนาน 4-8 สัปดาห์ และต้องอยู่ในรูปฉีดจึงจะมีประสิทธิภาพเข้าถึงเนื้อสมองได้ดี