โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis)
โรคบรูเซลโลสิสเกิดจากเชื้อบรูเซลลา (Brucella) ที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย หมู และสุนัข คนติดโรคบรูเซลโลสิสได้ 4 ทางคือ ทางผิวหนังที่เป็นแผล ทางการหายใจ ทางตา และทางการกินอาหาร สามทางแรกมักพบในคนเลี้ยงสัตว์และสัตวแพทย์ คนทั่วไปมักติดจากการกินอาหาร โดยเชื้อบรูเซลลามักอยู่ในนมแพะสด หรือเนยสดที่ทำมาจากนมแพะ ในนมวัวสดก็มีเชื้อนี้ได้
พยาธิสภาพ
เมื่อเชื้อบรูเซลลาเข้าสู่ร่างกาย จะไปเจริญเติบโตที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีต่อมน้ำเหลืองโต อีกส่วนหนึ่งของเชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต แล้วจะถูกเม็ดเลือดขาวพาไปที่ตับ ม้าม ไขกระดูก และอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดฝีขนาดเล็กอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ
อาการของโรค
โรคบรูเซลโลสิสมีระยะฟักตัวที่กว้างกันมากตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ ถึง 2-3 ปี อาการเริ่มด้วยไข้หนาวสั่นเป็น ๆ หาย ๆ คล้ายโรคมาลาเรีย แต่ระยะที่เป็นไข้จะนานกว่า ประมาณ 4-5 วัน แล้วค่อย ๆ ลดลงสู่ปกติ แล้วอีก 3-4 วันก็เป็นอีก ผู้ป่วยมักอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้และที่คอ ลักษณะนุ่ม ไม่เจ็บ ต่อมาจะเริ่มมีตับม้ามโต ไม่ค่อยพบอาการเหลือง อาการปวดหลังจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเคาะที่กระดูกสันหลังจะเจ็บมาก อาการทั้งหมดจะค่อย ๆ เกิด กินเวลานานเป็นเดือน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของโรคบรูเซลโลสิสคือกระดูกสันหลังอักเสบ เริ่มแรกจะเป็นที่หมอนรองกระดูกสันหลังก่อน ต่อมากระดูกสันหลังที่ประกบกับหมอนจะถูกทำลายไปด้วย ทำให้กระดูกยุบ และอาจมีฝีมากดเบียดไขสันหลัง ผู้ป่วยจะปวดหลังมาก ลุกไม่ได้ มักเป็นที่กระดูกสันหลังส่วนเอว แยกยากจากวัณโรคของกระดูกสันหลัง ในเด็กต้องแยกจากโรคไขสันหลังอักเสบจากเชื้อโปลิโอด้วย
อาการทางจิตก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคบรูเซลโลสิส ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า บางครั้งเพ้อ ไม่รู้จักผู้คน สถานที่ และเวลา บางรายมีอาการหลงผิด โดยที่ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคจิต
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ พบได้น้อย ที่มีรายงานก็เช่น ฝีที่ปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แผลที่กระจกตา จอตาอักเสบ ประสาทตาฝ่อ ลิ่มเลือดอุดตัน
การวินิจฉัย
โรคบรูเซลโลสิสวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก การเพาะเชื้อบรูเซลลาจากเลือดหรือปัสสาวะต้องใช้น้ำเลี้ยงเชื้อพิเศษ และกินเวลานานถึง 8 สัปดาห์ การตรวจทางซีโรโลยี่ก็แปลผลได้ยาก เพราะมี cross-reaction กับโรคอื่น ๆ มากมาย การตรวจชิ้นเนื้อก็ไม่มีลักษณะจำเพาะ มักพบเพียงแกรนูโลมา (granuloma) ที่คล้ายวัณโรคและโรคซาร์คอยโดสิส (sarcoidosis)
แพทย์ควรสงสัยโรคบรูเซลโลสิสในผู้ป่วยที่อาการเหมือนวัณโรคแต่ตรวจชิ้นเนื้อไม่พบเชื้อวัณโรค หรือหลังให้ยาวัณโรคนาน 2 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
การรักษา
การรักษาโรคบรูเซลโลสิสต้องใช้ยา 2 ขนานร่วมกัน คือ Tetracycline และ Streptomycin ฉีด 3 สัปดาห์แรก แล้วกิน Tetracycline ต่อจนครบ 3 เดือน
การป้องกัน
มีวัคซีนป้องกันโรคบรูเซลโลสิสในสัตว์ แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคในคน การป้องกันที่สำคัญคือต้องกำจัดเชื้อในสัตว์ให้ได้ก่อน ผู้ที่ทำงานกับสัตว์ไม่ควรสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง
สำหรับคนทั่วไปควรดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์แล้วเท่านั้น และไม่ควรกินเนยสดที่ทำจากนมแพะ