โรคอัณฑะอักเสบ (Epididymo-orchitis)
การอักเสบที่ลูกอัณฑะและถุงเก็บตัวอสุจิที่อยู่หลังอัณฑะ (epididymis) มักเกิดคู่กันเสมอ ในภาษาไทยเรียกรวมกันว่าโรคอัณฑะอักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่ในผู้ใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทางการมีเพศสัมพันธ์ ในเด็กมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคคางทูม สาเหตุที่พบน้อยแต่ก็เกิดขึ้นได้ คือการติดเชื้อวัณโรค และผลข้างเคียงของยาโรคหัวใจบางชนิด
อาการของโรค
โรคอัณฑะอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการปวด บวม ที่ลูกอัณฑะ มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง พบเป็นทั้งสองข้างเพียง 10% ถ้าการอักเสบเริ่มที่ถุงเก็บตัวอสุจิก่อนจะคลำได้ตำแหน่งที่ปวดเป็นเส้นอยู่ด้านหลังของลูกอัณฑะ และถุงหุ้มอัณฑะจะยึดติดกับตำแหน่งที่ปวดนั้น อาการปวดจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลาเป็นวัน โดยจะปวดมากขึ้นเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระและขณะร่วมเพศ มีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือเร่งรีบ กลั้นไม่ได้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีไข้ มีต่อมน้ำเหลืองข้างขาหนีบโต และบางครั้งมีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากท่อปัสสาวะ
โรคอัณฑะอักเสบเรื้อรังจะมีอาการปวดลูกอัณฑะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ไม่บวม และไม่ค่อยมีไข้ มีปัสสาวะเร่งรีบเป็นบางครั้ง และมีต่อมน้ำเหลืองข้างขาหนีบโต โดยทั่วไปอาการรุนแรงน้อยกว่า
โรคอัณฑะอักเสบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูมจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว นำมาก่อน แล้วมีอาการของต่อมน้ำลายอักเสบ (คางบวม) จากนั้น 3-5 วันจึงเกิดอาการปวด บวม ที่ลูกอัณฑะ ผู้ป่วยมักเป็นเด็ก
การวินิจฉัยโรค
โรคอัณฑะอักเสบวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ในภาวะเฉียบพลันอาการจะคล้ายกับภาวะที่ลูกอัณฑะบิดเกลียว (testicular torsion) มาก และมีความจำเป็นที่จะต้องแยกทั้งสองภาวะนี้ออกจากกันให้ได้ตั้งแต่แรก เพราะการรักษาต่างกัน ภาวะลูกอัณฑะบิดเกลียวต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน มิฉะนั้นลูกอัณฑะอาจตาย ทำให้เป็นหมันได้
ลักษณะที่ช่วยแยกทั้งสองภาวะนี้ ได้แก่
| โรคอัณฑะอักเสบ | ภาวะลูกอัณฑะบิดเกลียว |
การปวดของลูกอัณฑะ | - อาการปวดเริ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นวัน - สามารถระบุตำแหน่งที่เริ่มปวดก่อนได้ | - เริ่มปวดอย่างฉับพลัน ปวดเต็มที่ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง - ปวดไปทั้งหมด บางครั้งแยกไม่ได้ว่าปวดข้างไหน |
ตำแหน่งของลูกอัณฑะ | - ลูกอัณฑะยังคงวางตัวในแนวตั้งอยู่ที่ก้นถุง | - ลูกอัณฑะจะวางตัวในแนวนอน และลอยอยู่ระดับกลางถุง |
อาการอื่น | - ไข้ ปัสสาวะแสบขัด | - คลื่นไส้ อาเจียน |
การตรวจร่างกาย | - เมื่อยกถุงอัณฑะขึ้น อาการปวดจะดีขึ้น - เมื่อใช้ปากกาขีดที่ต้นขาด้านในขึ้นไปถึงขาหนีบข้างที่ปวดจะยังเห็นรีเฟล็กซ์ที่ถุงอัณฑะยกขึ้น | - ไม่ว่าจะยกถุงอัณฑะขึ้นข้างใด อาการปวดก็ไม่ดีขึ้น - เมื่อใช้ปากกาขีดที่ต้นขาด้านใน ถุงอัณฑะจะไม่ยกขึ้น |
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ | - พบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะจำนวนมาก ถ้าเพาะเชื้อก็จะพบแบคทีเรีย - พบการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวในเลือดด้วย | - ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจะปกติหรือเกือบปกติ |
ในกรณีที่เป็นโรคอัณฑะอักเสบ การย้อมเชื้อและเพาะเชื้อจากปัสสาวะมีความสำคัญ เพราะถ้าเป็นเชื้อโกโนเรียหรือคลาไมเดียต้องรักษาคู่นอนด้วย มิฉะนั้นจะกลับมาเป็นซ้ำอีก และกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังไปในที่สุด
การรักษา
โรคอัณฑะอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หากเกิดจากสาเหตุอื่นก็ให้แก้ที่สาเหตุนั้น ในรายที่เป็นเรื้อรังต้องให้ยานาน 4-6 สัปดาห์ นอกจากนั้นก็ควรพักผ่อน ยกถุงอัณฑะให้สูงไว้ และใช้ยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็น