ภาวะอาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
ภาวะนี้คือการเกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ปวดท้อง เนื่องจากอาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือ
- มีเชื้อจุลินทรียืที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต
- ตัวอาหารนั้นเองเป็นพิษ เช่น เห็ดบางอย่าง หอย หรือพืชบางชนิด
- การแพ้อาหาร เช่น กุ้ง ซึ่งเกิดกับบางคนเท่านั้น
- มีสารเคมีบางอย่างปะปนอยู่ในอาหาร เช่น สังกะสี ทองแดง ดีบุก และยาฆ่าแมลง
ในส่วนนี้จะขอกล่าวเฉพาะภาวะอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
แบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษในคนนั้น ก่อโรคได้ 3 กลไกหลัก ๆ คือ
- ตัวเชื้อรุกล้ำเข้าเยื่อบุลำไส้ (Invasive mechanism) เช่น เชื้อ Shigella, Salmonella, E. coli, Vibrio parahaemolyticus, Campylobacter jejuni, Yersinia enterocolitica เป็นต้น เชื้อพวกนี้จะอยู่ในอุจจาระของคนและสัตว์ ติดต่อโดยการกินอาหารสดที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไป
- ตัวเชื้อสร้างสารพิษในอาหารที่ปรุงเสร็จ (In vitro enterotoxin) เช่น เชื้อ Staphylococcus, Clostridium botulinum, Clostridium perfringens, Bacillus cereus เป็นต้น ท็อกซินของเชื้อพวกนี้มักทนความร้อน หากในขบวนการปรุงหรืออุ่นอาหารไม่ผ่านความร้อนที่นานพอ ท็อกซินจะไม่ถูกทำลาย เมื่อคนกินเข้าไปก็อาจมีอาการท้องร่วงได้
- ตัวเชื้อสร้างสารพิษภายในลำไส้ (In vivo enterotoxin) เช่น เชื้อ Cholera, E. coli, Clostridium welchii เป็นต้น หลังจากที่คนกินเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหารเข้าไป เชื้อจะผลิตสารพิษที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์บุผิวของลำไส้เล็ก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกมาในทางเดินอาหาร โดยไม่รุกล้ำเข้าไปในเนื่อเยื่อของร่างกายเลย
แบคทีเรียบางชนิดทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้หลายกลไก ขณะเดียวกันก็ยังมีแบคทีเรียอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคได้โดยที่เรายังไม่ทราบกลไกแน่ชัด
เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเดินนั้น บางตัวได้รับการตั้งชื่อโรคเป็นภาษาไทยให้ เช่น เชื้อ Shigella ทำให้เกิดโรคบิดไม่มีตัว เชื้อ Cholera ทำให้เกิดอหิวาตกโรค แต่อีกหลายตัวก็ยังไม่ได้รับสิทธิ์นั้น
ท่ามกลางกระแสของการบริโภคพืชผัก ผลไม้ปลอดสารพิษสด ๆ ในปัจจุบัน แม้จะปลอดภัยจากสารเคมีและได้รับวิตามินอย่างเต็มที่ ก็ควรคำนึงถึงการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติด้วย การล้างทำความสะอาดก่อนรับประทานผักและผลไม้ทุกชนิดยังมีความสำคัญเสมอ การซื้ออาหารสำเร็จรูปก็ควรเลือกที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และรับประทานให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือเก็บไว้กินในภายหลัง นอกจากนั้น อาหารกระป๋องก็ควรดูฉลากวันหมดอายุ หากเปิดออกมามีกลิ่นผิดปกติก็ไม่ควรจะรับประทาน แม้ภาวะอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะมีอาการไม่ร้ายแรงและหายเองได้ แต่บางครั้งก็อาจเกิดภาวะช็อคจากการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
การรักษาอาการท้องเดินจากอาหารเป็นพิษที่สำคัญที่สุดคือการให้น้ำและเกลือแร่ชดเชยการสูญเสียให้ทัน สำหรับยาปฏิชีวนะจำเป็นเฉพาะในรายที่อาการรุนแรงหรือเป็นนานเกิน 3 วัน ถึงแม้จะมีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่าการให้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรกจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น แต่โดยรวมภาวะนี้ไม่มีความรุนแรง และระยะเวลาป่วยก็สั้นมากอยู่แล้ว บางรายหายเองภายใน 6-12 ชั่วโมง ยาปฏิชีวนะจึงควรสงวนไว้ใช้ในรายที่อาการหนักเท่านั้น