ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
ภายในช่องท้องของคนเรา ส่วนที่ถัดลงไปจากผนังหน้าท้อง จะมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มอวัยวะต่าง ๆ ไว้อีกชั้นหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกเนื้อเยื่อแผ่นบาง ๆ นี้ว่า เยื่อบุช่องท้อง ภายในเยื่อบุช่องท้องนี้นอกจากจะมีอวัยวะต่าง ๆ แล้วยังมีของเหลวสีเหลืองใสประมาณ 20-50 มล. เป็นตัวหล่อลื่นเวลาที่อวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนขึ้นลงขณะหายใจ และเคลื่อนไปมาขณะย่อยอาหารและขับถ่ายอีกด้วย
ในบางภาวะที่มีการสะสมของของเหลวภายในช่องท้องนี้มากกว่าปกติจะทำให้เกิดอาการแสดงที่เรียกว่า ท้องมาน ซึ่งจะมีอาการท้องโตคล้ายคนตั้งครรภ์ 7-9 เดือน พบได้ทั้งหญิงและชาย สาเหตุส่วนใหญ่ (80%) เกิดจากโรคตับแข็ง ส่วนน้อยเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว มะเร็งระยะลุกลาม วัณโรคของอวัยวะในช่องท้อง ภาวะขาดอัลบูมินในเลือดอย่างรุนแรง ฯลฯ
ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบเกิดได้ในสองลักษณะที่มีกลไกการเกิดโรคและการรักษาแตกต่างกัน จึงแยกออกเป็น 2 โรคคือ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบปฐมภูมิ และโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบทุติยภูมิ
โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบปฐมภูมิ (Primary peritonitis, spontaneous bacterial peritonitis)
เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดเฉพาะในผู้ป่วยที่มีท้องมานเท่านั้น กลไกการเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบปฐมภูมินี้ยังไม่ทราบแน่ชัด สองในสามพบว่ามีการติดเชื้อโดยไม่ทราบแหล่งที่มา และหนึ่งในสามพบแต่ว่ามีการอักเสบ แต่ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อ
เชื้อที่เพาะขึ้นจากน้ำในช่องท้องหรือจากเลือดมักเป็นแบคทีเรียกรัมลบ รองลงมาคือกรัมบวก ไม่ค่อยพบเชื้อพวกแอนแอโรบส์กลุ่มที่ไม่ชอบออกซิเจน (anaerobe) สันนิษฐานว่าเชื้ออาจมาจากในลำไส้เอง แต่ออกมาได้อย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด
ผู้ป่วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบปฐมภูมิจะมีอาการไข้และปวดท้องเพิ่มเติมจากอาการท้องมาน ตาเหลือง อ่อนเพลีย จากโรคดั้งเดิมที่เป็นอยู่ก่อน อาการปวดท้องจะเป็นอยู่ตลอดเวลา และเป็นมากขึ้นเวลาที่เดิน ขยับตัว หรือกดหน้าท้อง หากมีอาการเหล่านี้ในผู้ป่วยที่มีท้องมานอยู่แล้วควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรทิ้งไว้จนช้าเกินจะเยียวยาได้
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการดูดน้ำในช่องท้องไปตรวจและเพาะหากเชื้อ และตรวจเลือดเพื่อดูภาวะโดยรวมของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ก่อนที่จะเริ่มการรักษา ยารักษาจะเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฉีดอย่างน้อย 5 วันแม้จะเพาะเชื้อไม่ขึ้นก็ตาม โดยทั่วไปผู้ป่วยควรที่จะเข้าพักในโรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการให้ยาและติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อหายกลับไปแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดโรคนี้ซ้ำอีกถ้าภาวะท้องมานไม่สามารถรักษาให้หายไปได้
โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบทุติยภูมิ (Secondary peritonitis)
เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากพยาธิสภาพที่ทราบแน่ชัดในระบบอื่นภายในช่องท้อง เช่น แผลในกระเพาะอาหารทะลุ, ไส้ติ่งอักเสบจนแตก, ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน, อุบัติเหตุหรือการถูกทำร้ายจนมีการฉีกขาดของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในช่องท้อง รวมทั้งการทำหัตถการใดใดของช่องท้องจนทำให้เกิดการระคายหรือการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง เช่น การล้างของเสียผ่านเยื่อบุช่องท้องในผู้ป่วยไตวาย (Peritoneal dialysis) เป็นต้น
การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องแบบทุติยภูมินี้มักเริ่มจากการมีสารระคายเยื่อบุ เช่น เลือด กรดในกระเพาะ น้ำดี น้ำย่อย อุจจาระ ซึ่งออกมาจากอวัยวะในช่องท้องที่มีพยาธิสภาพนั้น แล้วมีการติดเชื้อตามมา แม้เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นพวกแบคทีเรียกรัมลบและเชื้อกลุ่มที่ไม่ชอบออกซิเจนในลำไส้ แต่ก็อาจเป็นพวกปรสิต หนอนพยาธิ เชื้อรา หรือเชื้ออะไรก็ได้ที่มีโอกาสเข้าไปหรือออกมาในช่องท้อง
อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบทุติยภูมิจะแตกต่างกันในระยะเริ่มแรกแล้วแต่พยาธิกำเนิด แต่ทันทีที่มีการระคายเยื่อบุจนอักเสบแล้วผู้ป่วยจะปวดท้องอย่างรุนแรงมาก ส่วนใหญ่ไม่อาจขยับตัวได้ กล้ามเนื้อหน้าท้องจะแข็งแกร็ง การหายใจจะตื้น ๆ สั้น ๆ เพื่อป้องกันความเจ็บปวด ท้องจะค่อย ๆ อืดขึ้น ในระยะแรกไข้อาจมีหรือไม่ขึ้นกับสาเหตุตั้งต้น แต่เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนแล้วจะมีไข้ทุกราย
การวินิจฉัยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย เอกซเรย์ช่องท้อง อัลตราซาวด์ และผลการตรวจเลือด
การรักษาจำเป็นต้องผ่าตัดเข้าไปแก้ไขสาเหตุเริ่มแรกก่อน แล้วล้างทำความสะอาดช่องท้องทั้งหมด พร้อม ๆ กับวางท่อระบายไว้เพื่อให้พวกหนองหรือสารน้ำที่ยังค้างอยู่สามารถถ่ายเทออกไป นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดก่อนและหลังการผ่าตัดด้วย
ในกรณีที่สาเหตุเป็นจากการติดเชื้อในกระบวนการล้างของเสียทางช่องท้องในผู้ป่วยโรคไต การรักษาไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หากแต่ต้องเอาสายล้างช่องท้องออก ทำการเพาะเชื้อจากปลายสายและน้ำในช่องท้อง และให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดที่ปรับขนาดให้เหมาะสมกับค่าการทำงานของไตแล้ว เชื้อในกรณีนี้มักเป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกที่อยู่ตามผิวหนัง รองลงมาคือเชื้อ Pseudomanas และเชื้อรา