!DOCTYPE html> โรคปอดบวม - MutualSelfcare.Org

โรคปอดบวม (Pneumonia)

โรค "ปอดบวม" หรือที่บางคนเรียกว่าโรค "ปอดติดเชื้อ" คือภาวะที่ปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือมัยโคพล้าสมา (ปอดอักเสบยังอาจเกิดได้จากการสำลัก การสูดดมสารพิษ การฉายรังสี การแพ้ยาบางชนิด ฯลฯ) ไม่ใช่โรค "ปอดบวมน้ำ" (pulmonary edema) ที่มีน้ำคั่งในถุงลมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย และอื่น ๆ

โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียจัดว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในบรรดาโรคของระบบหายใจทั้งหมด

อาการของโรค

โรคปอดบวมอาจเกิดจากการลุกลามของการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของหลาย ๆ โรค แต่อาการสำคัญจะคล้ายกันคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เสมหะมาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่ช่างสังเกตบางรายจะรู้สึกว่ามีเสียงปุปะดังอยู่ในปอดข้างใดข้างหนึ่งเวลาสูดหายใจเข้า ถ้าแพทย์นำ stethoscope ไปฟังเสียงหายใจที่ทรวงอกก็จะได้ยินเสียงนี้เช่นกัน เสียงนี้เกิดจากการที่มีของเหลวปริมาณน้อย ๆ (ในกรณีนี้คือเสมหะ) อยู่ในถุงลม ทำให้ผนังของถุงลมแปะติดกัน เมื่อสูดหายใจเข้า อากาศที่เข้าไปจะทำให้ถุงลมเปิดออก เสียงจะคล้ายเวลาที่เราค่อย ๆ ฉีกกระดาษสองแผ่นที่แปะกาวติดกันแล้วออกจากกัน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคปอดบวมคือ การเกิดน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด การหายใจล้มเหลว และภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) ซึ่งโอกาสเสียชีวิตจะสูงมากถ้าเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด

การวินิจฉัยโรค

โรคปอดบวมวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการไข้ ไอ หอบ และภาพรังสีทรวงอกมีเงาของการอักเสบอยู่ในเนื้อปอด แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือต้องวินิจฉัยหาเชื้อที่เป็นสาเหตุให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะประสิทธิภาพของการรักษาโรคปอดบวมอยู่ที่ความเร็วและความถูกต้องของการให้ยาฆ่าเชื้อ การตรวจย้อมเชื้อและเพาะเชื้อจากเสมหะต้องทำทันทีที่เอ็กซเรย์พบเงาอักเสบของปอด ผลการย้อมเชื้อจากเสมหะจะบอกได้คร่าว ๆ ในวันแรกว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อในกลุ่มใด และให้แนวทางในการเลือกยาขั้นต้น ผลการเพาะเชื้อในอีกสามวันต่อมาจะระบุชนิดของเชื้อและยาที่ตอบสนองได้ดี

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมที่ติดเชื้อมาจากนอกโรงพยาบาลได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Klebsiella pneumoniae, Staphylococcus aureus, Pseudomonas pseudomallei, Branhamella (Moraxella) catarrhalis, Bordetella pertussis, และ Legionella pneumophila

ในเด็กยังต้องแยกว่าผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยดูจากอายุ อาการ ภาพรังสีปอด และการตรวจนับเม็ดเลือดขาว

การรักษา

โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก สมควรที่จะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ และใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดในช่วงแรก เพราะมีโอกาสเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวและภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดในช่วงแรกที่ยังไม่ทราบเชื้อที่แน่ชัด

เมื่อการรักษาเริ่มเห็นผล อาการไข้ ไอ และเหนื่อยหอบจะลดลงก่อน ส่วนภาพเอ็กซเรย์ปอดจะค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ใน 2-4 สัปดาห์ เมื่อไข้ลงและอาการดีขึ้น อาจเปลี่ยนจากยาฉีดเป็นชนิดรับประทานต่อไปอีก 5-7 วัน และอาจกลับไปพักฟื้นร่างกายต่อที่บ้านได้

หากมีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดในปริมาณมาก ควรได้รับการเจาะออก เพื่อระบายสิ่งสกปรกออกไปก่อนที่มันจะกลายเป็นฝีในภายหลัง