โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในเพศชาย วางตัวอยู่บนพื้นของช่องเชิงกราน ตรงตำแหน่งของฝีเย็บหลังลูกอัณฑะ ใต้กระเพาะปัสสาวะ และโอบหุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ เพื่อพาเชื้ออสุจิออกจากร่างกายได้สะดวกขณะมีเพศสัมพันธ์ การอักเสบของต่อมลูกหมากมีทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ทราบสาเหตุ เชื้อที่เป็นสาเหตุก็มีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส คลาไมเดีย ยูเรียพล้าสมา วัณโรค ซิฟิลิส เชื้อรา และโปรโตซัว แต่เชื้อส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบแบบเฉียบพลันคือเชื้อแบคทีเรียที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์

อาการของโรค

โรคต่อมลูกหมากอักเสบทางคลีนิกแสดงอาการได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ต่อมลูกหมากอักเสบแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่พบในเพศชายวัยเจริญพันธุ์ อาการหลักคือมีไข้หนาวสั่น ปวดตุงบริเวณฝีเย็บ เบาขัด และมีของเหลวไหลออกจากท่อปัสสาวะ บางรายอาจมีอาการปวดเอว ปวดหลัง หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาการเบาขัดเกิดจากพยาธิสภาพของต่อมลูกหมากที่อักเสบแบบเฉียบพลันจะบวมโตจนเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไหลออกไม่สะดวก ต้องเบ่ง และปัสสาวะไม่พุ่ง (แต่ไม่มีอาการแสบท่อปัสสาวะเหมือนโรคท่อปัสสาวะอักเสบ) ถ้ารีบเร่งเสร็จกิจก็จะทำให้มีการสะสมของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ไม่นานก็จะรู้สึกอยากถ่ายเบาอีก จนบางครั้งไม่อาจกลั้นปัสสาวะได้
  2. ต่อมลูกหมากอักเสบแบบเรื้อรัง พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรัง เช่น ปวดหลังส่วนเอว ปวดบริเวณหัวเหน่า ถ่ายปัสสาวะลำบาก และปัสสาวะบ่อย อาการไข้จะหายไป เชื้อที่เป็นสาเหตุพบได้หลายชนิด ในบางรายก็ตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุ
  3. กลุ่มอาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรังที่สัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังของต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการเบาขัด ปัสสาวะบ่อย ปวดถ่วง ๆ ที่บริเวณท้องน้อยหรือบริเวณฝีเย็บใต้ลูกอัณฑะ โดยเฉพาะเวลาที่มีการหลั่งน้ำอสุจิ บางรายอาจไร้สมรรถภาพทางเพศ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะการเพาะเชื้อทั้งจากปัสสาวะและน้ำคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากให้ผลเป็นลบ แต่พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานมากผิดปกติ เข้าใจว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีน้ำปัสสาวะบางส่วนไหลย้อนกลับเข้าไปในต่อมลูกหมาก ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง
  4. ต่อมลูกหมากอักเสบแบบไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่ตรวจทางห้องปฏิบัติการพบความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ในกลุ่มนี้ไม่ต้องรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากอักเสบได้แก่ การเกิดฝีที่ต่อมลูกหมาก การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคกรวยไตอักเสบ และภาวะมีบุตรยาก

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากอักเสบต้องอาศัยการตรวจต่อมลูกหมากโดยการตรวจทางทวารหนัก การตรวจปัสสาวะและน้ำคัดหลั่งจากต่อมลูกหมาก ถ้ามีอาการมาเกิน 3 เดือนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง

ในรายที่ผลการตรวจปัสสาวะและน้ำคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากไม่พบเชื้อใด ๆ ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคของกระเพาะปัสสาวะที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ การตรวจเลือด ทำอัลตราซาวน์ผ่านทางทวารหนัก และการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จะช่วยบอกพยาธิสภาพที่เกิดกับต่อมลูกหมากได้มากขึ้น การส่องกล้องเข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะและการตรวจการขับปัสสาวะด้วยภาพรังสีจะช่วยแยกโรคของกระเพาะปัสสาวะ เช่น นิ่ว การอักเสบเรื้อรัง การตีบแคบของท่อปัสสาวะ และการไหลย้อนกลับของน้ำปัสสาวะได้

การรักษา

ผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบแบบเฉียบพลันและมีอาการหนักควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามเข้ากระแสเลือดได้ เบื้องต้นควรให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ในรายที่เกิดเป็นฝีขึ้นแล้วควรได้รับการดูดออก หรือถ้าเป็นมากอาจต้องกรีดเปิดออกสู่กระเพาะปัสสาวะ ยาปฏิชีวนะควรให้นาน 2-4 สัปดาห์

ผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบแบบเรื้อรัง หากตรวจพบเชื้อควรให้ยารักษานาน 4-6 สัปดาห์ รายที่ไม่พบเชื้ออาจใช้ยาบรรเทาอาการในกลุ่มของ NSAIDs, alpha-blocking agents, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาระบาย, และการนั่งแช่น้ำอุ่น ส่วนการใช้ยา Anti-androgen และ 5α-reductase inhibitors เพื่อยับยั้งการเพิ่มขนาดของต่อมลูกหมากแนะนำให้ใช้เฉพาะในรายที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตอยู่แล้ว การใช้ยาอื่นๆ เช่น Phytotherapeutic Agents หรือ Allopurinol พบว่าสามารถช่วยลดอาการได้ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

การป้องกัน

การป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกช่องถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากอักเสบได้ มักติดมาจากโรคจะคล้ายกับการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น การระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ อย่ากลั้นปัสสาวะถ้าไม่จำเป็น และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนออกไปทำธุระข้างนอกและก่อนนอนทุกครั้ง