ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

โรคไข้ออกผื่นแดงในเด็กโดยทั่วไปเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ไข้อีดำอีแดงนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptococcus pyogenes หรือที่เรียกกันเต็มยศว่า β-hemolytic streptococcus group A ซึ่งเป็นเชื้อที่พบตามปกติในคอหอย ทอนซิล และผิวหนังของคน มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ทำให้เกิดโรค บางครั้งเชื้อก่อโรคอาจเป็นแบคทีเรียพวก Staphylococcus aureus ซึ่งมาจากแผลผ่าตัด จึงเรียกกันว่า surgical scarlet fever หรือ staphylococcal scarlet fever ซึ่งมีลักษณะการลอกของผื่นเมื่อโรคหายแล้วต่างออกไปเล็กน้อย

ไข้อีดำอีแดงนี้เป็นโรคที่พบในเด็กอายุระหว่าง 2-8 ปี ติดต่อกันง่ายผ่านทางการไอ จาม รดกัน และการสัมผัสกับแผลที่ติดเชื้อโดยตรง โดยตัวโรคเองไม่มีความรุนแรง แต่ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อสารพิษของเชื้ออาจทำให้เกิดโรคไข้รูห์มาติกหรือโรคหน่วยไตอักเสบตามมาซึ่งรุนแรงกว่า

อาการของโรค

ไข้อีดำอีแดงมีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 วัน อาการเริ่มจากมีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว และเจ็บคอมาก (ถ้าแหล่งของการติดเชื้อไม่ได้อยู่ที่ทอนซิล จะไม่เจ็บคอ แต่จะมีแผลที่ผิวหนังแทน) จากนั้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังมีไข้จะออกผื่นเป็นจุดแดง ๆ เล็ก ๆ โดยเริ่มจากที่คอและอก แล้วกระจายไปทั่วตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเอามือลูบผิวหนังที่เป็นผื่นจะรู้สึกเหมือนลูบกระดาษทราย (sandpaper rash) ผื่นมักเว้นช่องว่างโดยรอบของปาก (circumoral pallor) ที่ข้อพับของแขน เข่า หรือรักแร้ อาจเห็นเส้นสีแดงพาดตามขวางหลายเส้น (Pastia's lines) ซึ่งเกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอย เส้นเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 1-2 วันหลังผื่นตามตัวหายไป

อาการเจ็บคอจะเป็นมากจนกลืนอะไรไม่ค่อยได้ ใน 1-2 วันแรกลิ้นมีจุดแดง ๆ ดูคล้ายผลสตรอเบอรี่ที่ยังไม่สุกดี (white strawberry tongue) แล้วทั้งลิ้นและคอจะแดงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อเข้าวันที่ 4-5 ของโรค ลิ้นจะดูคล้ายผลสตรอเบอรี่ที่สุกเต็มที่ (red strawberry tongue) ทอนซินเองก็บวมแดงและมีจุดหนองสีขาว ๆ อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโตด้วย

ผื่นจะเริ่มจางหายไปในวันที่ 6 ของโรค และจะค่อย ๆ ลอกออกเป็นแผ่นบาง ๆ คล้ายหนังลอกเวลาที่ไปอาบแดดตอนที่ไม่ได้ทาครีมกันแดดในสัปดาห์ที่ 2-3 การลอกออกจนหมดอาจใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ กรณีที่เป็น staphylococcal scarlet fever การลอกของผิวหนังจะเกิดขึ้นเร็วตั้งแต่สัปดาห์แรก และจะลอกออกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากไข้อีดำอีแดงที่ไม่ได้รักษา หรือรักษาไม่สำเร็จมีมากมายหลายโรค ในระยะสั้นเช่น ฝีของต่อมอดีนอยด์ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในช่องหู ไซนัสอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในระยะยาวเช่น ไข้รูห์มาติก ภาวะหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบ กระดูกและข้ออักเสบ เป็นต้น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลินเป็นเวลา 10 วันจะช่วยลดการเกิดของภาวะแทรกซ้อนนี้

การวินิจฉัยโรค

ให้สงสัยไข้อีดำอีแดงไว้เสมอในเด็กที่มีไข้ เจ็บคอ ทอนซิลเป็นหนอง และออกผื่นแดง แต่การวินิจฉัยแน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อขึ้นสเตรปกรุ๊ปเอจากในคอหอยหรือแผลที่ติดเชื้อ เมื่อเวลาผ่านไป ลักษณะการดำเนินไปของผื่นจะช่วยวินิจฉัยโรคได้ การตรวจเลือดเพียงช่วยสนับสนุน เม็ดเลือดขาวจะสูงในสัปดาห์แรก และสัดส่วนของอีโอสิโนฟิลจะสูงในสัปดาห์ที่สอง

การหา ASO titer ช่วยในรายที่แหล่งของเชื้ออยู่ที่แผลซึ่งอาจแห้งไปแล้ว ไม่สามารถเก็บน้ำเหลืองมาเพาะเชื้อได้ หรือกรณีที่เด็กเกิดไข้รูห์มาติกหรือไตอักเสบโดยที่ประวัติการเกิดไข้อีดำอีแดงไม่แน่ชัด ระดับของ ASO จะค่อย ๆ ขึ้นในสัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อ และจะขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่ 3-4 จากนั้นจะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ไข้ออกผื่นแดงในเด็กต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไปด้วย เช่น โรคหัด โรคฟิฟธ์ โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส และโรคคาวาซากิ เป็นต้น

การรักษา

ไข้อีดำอีแดงรักษาง่ายด้วยยารับประทานติดต่อกันทั้งหมด 10 วัน นิยมใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรืออีริโธรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 250 มก. วันละ 4 ครั้ง ยาลดไข้และยาแก้อาการคันจากผื่นจะช่วยให้เด็กสบายตัวขึ้น ที่สำคัญควรให้เด็กพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพื่อไม่ให้กระจายโรคไปสู่เด็กคนอื่น ไข้จะลดภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเริ่มยา เด็กจะรู้สึกว่าหายแล้ว และอยากวิ่งเล่นเมื่อทานยาไปได้ 4-5 วัน แต่ผู้ปกครองควรย้ำให้เด็กทานยาให้ครบกำหนด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไป

ผื่นที่กำลังลอกไม่ควรขัดให้มันหลุดออกเร็ว ๆ ควรปล่อยให้มันหลุดออกเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์