โรคบิดไม่มีตัว (Shigellosis)

โรคบิดไม่มีตัวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชิเจลล่า (Shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรียกรัมลบ เชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย คนติดโรคโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อนี้ปะปนเข้าไป โดยเชื้ออาจติดไปกับมือของผู้ทำอาหารหรือแมลงวันที่มาตอมอาหาร

ที่ได้ชื่อว่าโรคบิดไม่มีตัวนี้อาจเป็นเพราะโรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่และถ่ายเป็นมูกเลือดเหมือนโรคบิดมีตัว แต่เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุมีขนาดเล็กกว่าโปรโตซัวอะมีบ้ามาก มองไม่เห็นตัวเชื้อจากพยาธิวิทยาจึงเรียกว่า 'บิดไม่มีตัว'

อาการของโรค

อาการเกิดขึ้นหลังรับเชื้อเข้าไปประมาณ 1-5 วัน ส่วนมากไม่ถึง 3 วัน อาการมีแบบที่รุนแรงและไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักมีไข้และปวดท้องนำมาก่อนอาการท้องเดิน ไข้มักสูงฉับพลัน และอาจเป็นล่วงหน้าเป็นวันก่อนที่จะเริ่มมีท้องเดิน ในเด็กเล็ก ๆ อาจมีอาการชักจากไข้ก่อนด้วยซ้ำ มักไม่มีอาการอาเจียน อาการท้องเดินของโรคบิดไม่มีตัวจะเป็นลักษณะถ่ายบ่อยแต่ครั้งละน้อย ๆ วันหนึ่งอาจถึง 20-30 ครั้ง มักมีอาการปวดเบ่งแบบถ่ายไม่สุด แรก ๆ เนื้ออุจจาระจะเหลวหรือเป็นน้ำ แต่เมื่อถ่ายมาก ๆ เข้าสิ่งที่ถ่ายออกมาจะมีลักษณะเป็นมูกเลือดเหนียว ๆ สีแดงสด ซึ่งเป็นส่วนของผนังลำไส้ใหญ่ที่อักเสบและบวมมากจนหลุดลอกออกมา ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีเนื้อเยื่อของผนังลำไส้ที่ตายหลุดออกมากับอุจจาระด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคบิดไม่มีตัวที่เกิดได้คือ เยื่อบุตาอักเสบทำให้ตาแดง ม่านตาอักเสบทำให้เคืองตา น้ำตาไหล ข้ออักเสบทำให้ปวดข้อเล็ก ๆ เช่น นิ้วมือ ข้อเท้า และปลายประสาทอักเสบทำให้มีชาตามปลายมือปลายเท้า

การวินิจฉัย

ในช่วงแรกที่มีไข้ ปวดท้อง ก่อนท้องเดิน ต้องแยกจากโรคไส้ติ่งอักเสบ และภาวะลำไส้กลืนกันในเด็กเล็ก ๆ ต่อเมื่อมีอาการท้องเดินแล้วจึงค่อยตรวจอุจจาระหาเชื้อปรสิต และเพาะหาเชื้อแบคทีเรีย

อุจจาระของผู้ป่วยโรคบิดไม่มีตัวจะไม่เหม็นเน่าเหมือนโรคบิดมีตัว และจะไม่พบเชื้ออะมีบ้า แต่จะมีเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก การเพาะเชื้อจะขึ้นเชื้อชิเจลลาในเวลา 3 วัน

ในระหว่างที่รอผลเพาะเชื้อต้องนึกถึงโรคลำไส้อักเสบอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแต่ทำให้มีไข้และถ่ายเป็นมูกเลือดได้ เช่น โรค ulcerative colitis

การรักษา

ในรายที่เป็นไม่มาก แม้ไม่ได้รับการรักษาก็จะหายได้เองใน 7-10 วัน การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือชดเชยการสูญเสีย ยาลดไข้ ยาแก้ลำไส้บีบตัว ในรายที่เป็นมากจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะช่วยกำจัดเชื้อบิด และควรให้นานติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำและการเกิดเชื้อดื้อยา เนื่องจากเชื้อชิเจลล่ามีภาวะการดื้อยาค่อนข้างสูง

วิธีป้องกัน

  • รักษาความสะอาดของอาหาร
  • แยกทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าที่เปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยอย่างระวัดระวัง
  • ผู้ประกอบอาหารไม่ควรทำอาหารในระหว่างที่ตนมีอาการท้องเดินไม่ว่าด้วยสาเหตุใด