กำเนิดชื่อยา

ยาทุกตัวมีสี่ชื่อ คือ

  1. ชื่อรหัส (Code name) เป็นชื่อแรกที่ได้รับจากผู้คิดค้นยา ชื่อรหัสอาจเป็นคำย่อ ตัวเลข หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ตัวอย่างเช่น Ciprofloxacin มีชื่อรหัสว่า Bay-o-9867 โดยคำว่า "Bay" มาจากชื่อของบริษัทยาที่คิดค้นมัน คือ ไบเออร์ (BAYER)
  2. ชื่อรหัสมีความสำคัญทางเคมีหรือทางเภสัชวิทยาน้อยมาก นักวิจัยจะใช้ชื่อนี้เรียกยาที่เพิ่งเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์หาโครงสร้างทางเคมีและประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์

  3. ชื่อทางเคมี (Chemical name) คือชื่อที่นักอินทรีย์เคมี (organic chemist) ใช้เรียกเพื่อระบุถึงโครงสร้างทางเคมีของยาหลังคัดกรองเบื้องต้นแล้วว่ามีประสิทธิภาพ ในกรณีของ Bay-o-9867 โครงสร้างสารเคมีคือ 1 cyclopropyl-6-Fluoro-4-OXO-7-(1-piperazinyl)-1,4-dihydro-3-quinolinecarboxylic acid
  4. ชื่อทางเคมีมาจากระบบการเรียกชื่อสารประกอบเคมีทุกชนิด (Chemical nomenclature) ยิ่งโมเลกุลของสารประกอบยิ่งใหญ่ ชื่อก็จะยิ่งยาว ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะใช้เรียกกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ชื่อทางเคมีมีประโยชน์มากสำหรับการค้นหาสารประกอบออกฤทธิ์ตัวใหม่

  5. ชื่อที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ (Non-proprietary name) คือชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เครื่องบิน แว่นตา ซอฟต์แวร์ ฯลฯ ซึ่งใคร ๆ ก็ใช้ได้โดยไม่มีเจ้าของ เมื่อยามีแนวโน้มจะผลิตออกสู่ตลาดได้แล้ว ชื่อที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์จะถูกตั้งขึ้นเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งบุคคลทั่วไปใช้เรียกแทนชื่อทางเคมี
  6. ตัวอย่างชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ เช่น
    - Metronidazole มาจากชื่อของสารประกอบที่มี methylnitro หรือ imidazole ring เป็นองค์ประกอบ
    - Metoclopramide มาจากชื่อของสารประกอบที่มี methoxychloroprocainamide เป็นองค์ประกอบ
    - Bacitracin มาจากชื่อของแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus subtilis ที่เพาะขึ้นจากแผลกระดูกหักและติดเชื้อของเด็กหญิง Tracy ในปี ค.ศ. 1945

    ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์นี้คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า "ชื่อสามัญ" (Generic name) ซึ่งจริง ๆ เป็นการใช้ผิดหลักเกณฑ์ ชื่อสามัญในทางเภสัชศาสตร์จะหมายถึงชื่อกลุ่มของยา เช่น Benzodiazepines, Barbiturates, Catecholamines ซึ่งในนั้นมียาชื่อไม่เป็นกรรมสิทธิ์อยู่หลายตัว อาทิ กลุ่ม Benzodiazepines ประกอบด้วยยา Diazepam, Nitrazepam, Flurazepam เป็นต้น ยาเกิดใหม่บางตัวอาจยังไม่มีกลุ่ม ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปใช้จึงอาจเป็นได้ทั้งชื่อกลุ่ม(ใหม่) หรือชื่อที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ แต่คนนิยมใช้คำว่า Generic name มากกว่าเพราะสื่อถึงชื่อที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้เหมือนกัน อีกทั้งเมื่อแปลเป็นไทยว่า "ชื่อสามัญ" ก็ยังกระชับกว่า

    ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์นี้ถูกตั้งโดยองค์กรกลางที่อนุมัติให้จำหน่ายยาได้ เช่น International Non-proprietary Names (INN), British Approved Names (BAN), United States Approved Names (USAN), FDA, USP โดยใช้หลักการตั้งชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การอนามัยโลก 4 ข้อ ดังนี้

    1. ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ควรปราศจากคำชี้นำไปสู่ตำแหน่งของอวัยวะ กลไกการออกฤทธิ์ พยาธิสภาพ และโรคที่ใช้รักษาได้
    2. ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ควรตั้งจากการรวมพยางค์ของชื่อสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะเพื่อระบุกลุ่มของสารประกอบที่สำคัญในยา
    3. ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ไม่ควรเกินสี่พยางค์ ควรจะแตกต่างกันในการออกเสียงและการสะกดคำ และไม่ควรลงท้ายด้วยอักษรตัวใหญ่ (capital letter) หรือตัวเลข
    4. ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ควรใช้คำลงท้ายเหมือนกันหากมีที่มาจากสารตั้งต้นเหล่านี้
        ลงท้ายด้วย
      • -ine   ถ้ามาจากสาร alkaloid
      • ลงท้ายด้วย -in   ถ้ามาจากสาร glycoside
      • ลงท้ายด้วย -ol   ถ้ามาจากสาร alcohol หรือ phenol
      • ลงท้ายด้วย -al   ถ้ามาจากสาร aldehyde
      • ลงท้ายด้วย -ene   ถ้ามาจาก unsaturated hydrocarbon
      • ลงท้ายด้วย -one   ถ้ามาจาก saturated hydrocarbon

    ให้สังเกตว่าหลักทั้ง 4 ข้อข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำ แต่ละข้ออาจขัดกันเอง ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ครบทุกข้อ ตัวอย่างเช่น ชื่อยา Adrenaline, Pentamidine และ Procaine ก็ลงท้ายด้วย -ine แม้มันจะไม่ได้ตั้งต้นมาจากสาร alkaloids เพราะ -ine นี้มาจากสารประกอบ amine ซึ่งเป็นสารอินทรีย์พื้นฐานของยา

    นอกจากนั้น ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์บางตัวที่ใช้ในอังกฤษและอเมริกาก็เรียกแตกต่างกัน (เพราะ BAN และ USAN ตั้งให้แตกต่างกัน) ตารางข้างล่างเป็นเพียงบางตัวอย่าง

    BAN (อังกฤษ)USAN (อเมริกา)
    AdrenalineEpinephrine
    CinchocaineDibucaine
    DexamphetamineDextroamphetamine
    ErgotametrineErgonovine
    FrusemideFurosemide
    Glyceryl trinitrateNitroglycerin
    HyoscineScopolamine
    IsoprenalineIsoproterenol
    LignocaineLidocaine
    ParacetamolAcetaminophen
    PethidineMeperidine
    PhenobarbitonePhenobarbital
    RifampicinRifampin
    SalbutamolAlbuterol
    SuxamethoniumSuccinylcholine
    ThiopentoneThiopental

    โดยอาศัยหลักการตั้งชื่อยาทั้ง 4 ข้อขององค์การอนามัยโลก ชื่อยาบางตัวอาจคล้ายกันมากแม้จะเป็นยาคนละกลุ่มและมีข้อบ่งชี้ในการใช้คนละโรค ตัวอย่างเช่น

    • Acetazolamide (ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors) และ Acetohexamide (ยากลุ่ม Oral hypoglycemic agents)
    • Chlorpromazine (ยากลุ่ม Antipsychotics) และ Chlorpropamide (ยากลุ่ม Oral hypoglycemic agents)
    • Piperazine (ยากลุ่ม Antihelmintics) และ Pirenzepine (ยากลุ่ม Antimuscarinic agents)
    • Terbinafine (ยากลุ่ม Antifungals) และ Terfenadine (ยากลุ่ม Antihistamines)

    ชื่อยาที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ (หรือชื่อสามัญ) ที่คล้ายกันมากเหล่านี้ทำให้การสั่งยา จ่ายยา และเช็คสต็อกยาผิดพลาดได้ แม้จะไม่บ่อยนักแต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย ดังนั้น การเขียนใบสั่งยา การพิมพ์ฉลากยา รวมทั้งระบบฐานข้อมูลของยาจึงควรมีทั้งชื่อสามัญและชื่อการค้าควบคู่กัน ต้องมีชื่อสุดท้ายที่ตั้งใจตั้งขึ้นให้มีเอกลักษณ์ จำง่าย และหมายถึงยาของผู้ผลิตรายนั้น ๆ โดยเฉพาะ

  7. ชื่อการค้า (Trade name) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ชื่อยี่ห้อ เป็นชื่อที่บริษัทยาตั้งขึ้นเองเพื่อการพาณิชย์ ชื่อการค้าจึงมีลักษณะที่สั้นกว่า จดจำง่ายกว่า และอาจสื่อถึงจุดเด่นที่ผู้ผลิตต้องการให้ผู้บริโภครับทราบ ชื่อการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วจะเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทนั้นแต่เพียงผู้เดียว บริษัทอื่นจะผลิตยาชื่อสามัญเดียวกันภายใต้ชื่อการค้าที่มีผู้จดทะเบียนไว้แล้วไม่ได้
  8. ชื่อการค้าจะมีเครื่องหมาย ® กำกับไว้หลังชื่อด้านบน อย่างในกรณีของ Ciprofloxacin มีหลายบริษัทผลิตโดยใช้ชื่อการค้าต่างกันมากมาย อาทิ Baycip®, Ciloxan®, Ciflox®, Ciplox®, Cipro®, Cipro XR®, Cipro XL®, Ciproxin®, Prociflor®, Neofloxin® เป็นต้น

    กรณีที่ผู้บริโภคใช้ยาภายใต้ชื่อการค้าใดแล้วเกิดปัญหา การตรวจสอบจะต้องมุ่งไปที่ขบวนการผลิตของบริษัทนั้นก่อนว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถึงจะตรวจขึ้นไปถึงสารออกฤทธิ์ในชื่อสามัญ ส่วนใหญ่ยาที่ใช้กันมานานกว่า 10 ปีมักไม่มีปัญหาในเรื่องสารออกฤทธิ์ในชื่อสามัญ แต่จะมีปัญหาในเรื่องกระบวนการผลิตของแต่ละบริษัทมากกว่า

    มีข้อถกเถียงกันมากในเรื่องการสั่งยาของแพทย์ว่าควรใช้ชื่อสามัญหรือชื่อการค้า โรงเรียนแพทย์มักสอนนักศึกษาแพทย์ให้สั่งยาโดยใช้ชื่อสามัญ เพราะผู้ป่วยจะจ่ายค่ายาถูกกว่า และเพื่อให้แพทย์วางตัวเป็นกลางในสนามแข่งขันของบริษัทยา แต่เมื่อแพทย์จบแล้วออกปฏิบัติงานจะมีประสบการณ์มากขึ้นกับยายี่ห้อต่าง ๆ ภายใต้ชื่อสามัญเดียวกัน เหมือนการใช้ยาสีฟันยี่ห้อต่าง ๆ ที่มีเกลือผสมเพื่อลดกลิ่นปาก ซึ่งบางครั้งความแตกต่างเล็กน้อยก็สำคัญในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ