โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis, OA)

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่พบบ่อยที่สุด พบมากถึงร้อยละ 15 ของประชากรวัย 55 ปีขึ้นไป และร้อยละ 85 ของประชากรวัย 75 ปีขึ้นไป ข้อเสื่อมเกิดจากการชำรุดและสึกหรอของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ (สีฟ้าในรูป) ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ, โรคข้ออักเสบเรื้อรัง, น้ำหนักตัวมากเกินไป, การใช้งานหนักเป็นระยะเวลานาน ๆ เมื่อกระดูกอ่อนหายไป กระดูกจะเสียดสีกันเองเมื่อข้อเคลื่อนไหว เกิดการผุพังของกระดูก ร่างกายจะซ่อมแซมโดยการระดมแคลเซียมมาปะส่วนที่สึก แต่แคลเซียมที่มาเกาะยิ่งทำให้ผิวข้อไม่เรียบ กระดูกที่ไม่เรียบเมื่อเสียดสีกันก็จะยิ่งปวดมากขึ้น

ปัจจุบันยังไม่พบการรักษาที่จะคืนสภาพข้อที่ชำรุด การเปลี่ยนข้อทำได้เฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย ขึ้นกับชีวิตของผู้นั้นว่ายังจำเป็นต้องใช้งานข้อที่เสื่อมนั้นมากน้อยเพียงไร

อาการและการวินิจฉัยโรค

โรคข้อเสื่อมมักพบที่ข้อเข่า, ข้อสะโพก, กระดูกสันหลังส่วนเอวและกระเบนเหน็บ กระดูกสันหลังส่วนคอ และข้อนิ้วมือ ในนักกีฬาที่ใช้ข้อมือหรือข้อไหล่มากก็อาจมีการเสื่อมของข้อเหล่านั้นตามกาลเวลา

อาการหลัก คือ ปวด ข้อฝืด และข้อติด ในระยะแรกอาการปวดจะเกิดขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นเป็นเวลานาน ๆ แต่พอได้พักก็จะหายปวด ไม่ค่อยมีข้อบวมให้เห็นชัด ผิดจากข้ออักเสบเฉียบพลันจากการบาดเจ็บ, ติดเชื้อ, หรือโรคเกาท์ ที่ข้อจะบวม แดง ร้อน ทุกครั้งที่อาการปวดกำเริบ

ข้อที่เสื่อมจนมีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้นจะมีความยืดหยุ่นน้อยลง ขยับได้ไม่รอบทิศเหมือนปกติ มีข้อฝืดตอนเริ่มต้นใช้งาน

ข้อที่ปวดจนใช้การไม่ได้ ผู้ป่วยจะเริ่มไม่ขยับข้อนั้น และสุดท้ายข้อจะติด เหยียดหรืองอไม่ได้อีก

โรคข้อเสื่อมวินิจฉัยจากอาการปวดเรื้อรัง ข้อฝืดและข้อติดดังกล่าว เอกซเรย์กระดูกจะช่วยบอกความรุนแรงได้ โดยทั่วไปจะเห็นช่องว่างระหว่างข้อแคบลง มีแคลเซียมมาเกาะระหว่างผิวกระดูกทั้งสองชิ้น อาจเห็นแนวกระดูกเคลื่อนไปจากแนวปกติ

การรักษา

การรักษาข้อเสื่อมขึ้นกับตำแหน่งของข้อ โดยทั่วไปจะรักษาด้วยยาแก้ปวดลดการอักเสบและทำกายภาพบำบัดก่อน การผ่าตัดแก้ไขนิยมทำกับข้อใหญ่เท่านั้น

  1. การใช้ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ได้แก่
    • ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งมีทั้งแบบฉีด รับประทาน ครีม/เจลนวด และสเปรย์พ่น ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง ไม่ควรใช้นาน เมื่อดีขึ้นควรทำกายภาพบำบัดต่อ
    • ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาแก้ปวดกลุ่มที่เสพติดได้ทั้งแบบฉีดและรับประทาน ใช้เสริมหรือแทนยากลุ่มเอ็นเสดเมื่อต้องใช้เป็นเวลานาน
    • ยาสเตียรอยด์ แพทย์บางท่านอาจฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อนาน ๆ ครั้งเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ไม่แนะนำให้ฉีดบ่อย
  2. การทำกายภาพบำบัด ได่แก่
    • การประคบร้อน/เย็น
    • การใช้ความร้อนลึก (Deep heat therapy) ด้วย ultrasound, dithermy หรือ electrotherapy
    • การนวดคลายกล้ามเนื้อ
    • การใช้กายอุปกรณ์ช่วยพยุง
    • การบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน
    • การออกกำลังกายในน้ำ (วารีบำบัด)
  3. การผ่าตัด
    • ข้อเข่า
      • การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณหัวเข่าเพื่อดูสภาพกระดูกข้อเข่า และค่อย ๆ สอดเครื่องมือเข้าไปกำจัดกระดูกอ่อนที่เสียหายและเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวด ทว่าวิธีนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระยะสั้นท่านั้น หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องรับการผ่าตัดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
      • การผ่าตัดซ่อมผิวกระดูกอ่อน จะทำในกรณีที่ผิวกระดูกอ่อนแตกเฉพาะที่ หากเป็นมากแล้ววิธีนี้ใช้ไม่ได้ การซ่อมผิวกระดูกอ่อนอาจใช้วิธี Bone Marrow Stimulating, Osteochondral Transplantation, หรือ Autologous Chondrocyte Implantation
      • การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก ในกรณีที่ข้อเข่าของผู้ป่วยเกิดความเสียหายเพียงด้านเดียว การผ่าตัดเพื่อปรับแนวและรูปร่างของกระดูกบริเวณขาจะช่วยลดแรงกดทับที่เข่าด้านนั้น ๆ โดยแพทย์จะตัดและเหลากระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขา เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น อาการเจ็บปวดจะบรรเทาลง และส่งผลให้การทำงานของเข่าดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
      • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมซีกเดียว คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านใน ซึ่งมักใช้กับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากนัก หรือมีอีกซีกหนึ่งของเข่าและลูกสะบ้าอยู่ในสภาพดี โดยเป็นการผ่าตัดเล็ก ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเดินลงน้ำหนักได้ภายใน 1-2 วัน
      • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แพทย์จะผ่าตัดกระดูกอ่อนและและกระดูกเข่าที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากเหล็กหรือพลาสติก วิธีนี้มักใช้รักษาอาการข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงที่ไม่อาจผ่าตัดด้วยวิธีอื่น โดยจะช่วยให้การทำงานของเข่าดีขึ้นและมีผลลัพธ์การรักษายาวนานหลายปี
    • ข้อสะโพก
      • การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะตัดแต่งกระดูกอ่อนผิวข้อ เลบรัม และเอ็นภายในข้อ เย็บซ่อมเลบรัม ล้างข้อสะโพกที่มีการติดเชื้อ เอาเศษกระดูกที่ขัดอยู่ภายในข้อสะโพกออก มีการกรอแต่งขอบเบ้าสะโพกและส่วนคอของกระดูกต้นขา วิธีนี้อาจทำได้ยากในกรณีที่ข้อติดแข็ง เคลื่อนไหวได้น้อย ทำให้ไม่สามารถดึงข้อสะโพกเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัดได้สะดวก หรือกรณีเบ้าสะโพกตื้นในผู้ป่วยอายุน้อย ซึ่งควรได้รับการผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่ก่อน หรือกรณีที่ข้อสะโพกเสื่อมมาก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
      • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เทคนิคการผ่าตัดพัฒนามาจนเป็นแบบแผลเล็ก เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย เริ่มเดินใน 1-2 วันหลังผ่าตัด และอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 3-7 วัน

การป้องกัน

โรคข้อเสื่อมป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายข้อ เช่น ไม่นั่งพับเข่า พับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ เพราะจะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า, ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้ BMI* เกิน 23, ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงยืนหรือเดินนาน ๆ, ใส่รองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลัง เพื่อลดแรงกระแทกเวลาวิ่งหรือเดินทางไกล, ย่อตัวและงอเข่าเมื่อจะยกของหนักจากพื้น, และพักการใช้งานข้อ 1-2 วันเมื่อรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณข้อนั้น ๆ

* BMI หรือดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม / (ส่วนสูงเป็นเมตร)2

บรรณานุกรม

  1. "Osteoarthritis (OA)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Versus Arthritis. (27 มีนาคม 2562).
  2. "Osteoarthritis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (27 มีนาคม 2562).
  3. Karolin Rönn, et al. 2011. "Current Surgical Treatment of Knee Osteoarthritis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hindawi. (26 มีนาคม 2562).